ผ่าซากเต่ามะเฟืองพบในท้องมีไข่ คาดเป็น "แม่ท้ายเหมือง" ที่จะขึ้นมาวางไข่

เต่ามะเฟือง พังงา – ผ่าซากแม่เต่ามะเฟืองที่เกยตื้นหาดท้ายเหมือง พบถูกเชือกที่เป็นลอบดักสัตว์น้ำของชาวประมงรัดลำคอตายและใบพายจนจมน้ำตาย พบในท้องมีไข่ คาดเป็นแม่ท้ายเหมือง ที่จะขึ้นมาวางไข่ในฤดูกาลนี้

หลังจากชาวบ้านในพื้นที่พบซากเต่าทะเลถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นชายหาดปาง ภายในอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่าเป็นซากเต่ามะเฟือง เพศเมีย มีเชือกพันรัดอยู่ที่ลำคอ และพายหน้าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เต่าเสียชีวิต จึงได้เคลื่อนย้ายซากเต่ามาที่ทำการอุทยานฯ พร้อมประสานไปยังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย และเก็บข้อมูลเชิงวิชาการต่อไป

ล่าสุด สัตวแพทย์หญิงพัชราภรณ์ แก้วโม่ง หัวหน้าศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหาหายากสิรีธาร ได้ผ่าพิสูจน์ซากเต่า พบเป็นเต่ามะเฟืองตัวเมีย วัดขนาดกระดองความกว้าง 105 ซม. ยาว 181 ซม. ถูกเชือกไนลอนสีเหลืองรัดลำคอและใบพายหน้าทั้งสองข้างอยู่หลายรอบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เต่าจมน้ำตาย เมื่อผ่าท้องออกมาพบว่ามีไข่อยู่ในท้อง คาดว่าตายแล้วมากกว่า 4 วัน

นายปรารพ แปลงงาน อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง กล่าวว่า สาเหตุการตายของเต่ามะเฟืองนั้นเกิดจากการว่ายน้ำไปติดเชือกผูกลอบจับสัตว์น้ำของชาวประมงที่วางไว้ในทะเล เบื้องต้นคาดว่าเป็นแม่เต่ามะเฟืองหนึ่งในสามตัวที่ขึ้นมาวางไข่ในฤดูกาลนี้ และจากการดูวงรอบการวางไข่แล้ว น่าจะเป็นแม่ท้ายเหมือง ที่ขึ้นมาวางไข่แล้ว 4 ครั้งในฤดูกาลนี้ นับว่าเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าเป็นอย่างมาก

ล่าสุด ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ได้โพสต์บอกว่า ผลการชันสูตรเบื้องต้น พบเป็นแม่เต่ามะเฟืองที่มีไข่ในท้อง ความยาวกระดอง 139 ซม. หากคาดการณ์จากวงรอบการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง ชื่อ “ท้ายเหมือง” ซึ่งครบกำหนดในระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2567 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่พบเห็นการขึ้นวางไข่ เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนเวลาที่เต่ามะเฟืองตายมาแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นแม่เต่ามะเฟืองท้ายเหมือง ทั้งนี้ การเปรียบเทียบข้อมูล mtDNA ของเต่ามะเฟืองตัวที่ตายกับลูกเต่าที่ฟักจะสามารถยืนยันได้ต่อไป

การสูญเสียแม่เต่ามะเฟืองแต่ละตัว เท่ากับการสูญเสียลูกเต่ามากกว่าหมื่นตัว ที่ตลอดชั่วชีวิตของแม่เต่าสามารถขยายพันธุ์ได้ การอนุรักษ์และปกป้องแม่เต่ามะเฟืองในช่วงการเข้ามาวางไข่ รวมถึงการปกป้องพ่อพันธุ์เต่าที่เข้ามารอผสมพันธุ์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ในบ้านเราจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการติดตามการอพยพของแม่เต่ามะเฟือง แต่หากเทียบเคียงกับข้อมูลทึ่มีการศึกษาในต่างประเทศด้วยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม พบว่า แม่เต่ามะเฟืองจะว่ายน้ำเป็นวงรอบ (loop) ในรัศมีประมาณ 80 กิโลเมตร ทั้งนี้แตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิศาสตร์และทิศทางการไหลของกระแสน้ำ เมื่อนำข้อมูลนี้มาจำลองบนแหล่งวางไข่ของประเทศไทยโดยมีศูนย์กลางบริเวณหาดท้ายเหมือง และไกลออกไปจากฝั่งถึงบริเวณร่องน้ำลึก ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าระหว่างช่วงเวลา 10 วันที่แม่เต่าจะย้อนกลับมาวางไข่ แม่เต่ามะเฟืองอาจว่ายไปไกลถึงหมู่เกาะสุรินทร์ (หรือเหนือกว่า) และใต้สุดถึงบริเวณตอนใต้ของภูเก็ต

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในช่วงใกล้ขึ้นวางไข่ แม่เต่ามะเฟืองจะว่ายเข้ามาใกล้ฝั่งในรัศมีประมาณ 6 กิโลเมตร ทำให้เป็นพื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการติดเครื่องมือประมงหรือเกี่ยวพันรัดกับขยะทะเลที่มีมากบริเวณใกล้ฝั่ง ในกรณีที่ผ่านมาของช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 เราพบการเกยตื้นแล้วรวม 3 ครั้ง โดยเป็นการเกยตื้นที่เกิดจากการรัดพันของเชือกลอบเพียงเส้นเดียวถึง 2 ครั้ง ในขณะที่อีกครั้งเป็นการติดอวน ถึงแม้ว่าจากการเกยตื้นทั้ง 3 ครั้ง มีเพียงตัวเดียวที่เสียชีวิต และเต่า 2 ตัวได้รับการช่วยเหลือให้กลับสู่ทะเลได้ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก

ระยะเร่งด่วนน่าจะมีการสำรวจและลาดตระเวนพื้นที่ทางทะเลในรัศมี 6 กิโลเมตรจากฝั่ง เพื่อตรวจหาแม่เต่าที่รอขึ้นวางไข่ ตรวจสอบและแจ้งเตือน รวมถึงขอความร่วมมืองดใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายในพื้นที่ที่พบแม่เต่า หรือให้มีการเฝ้าระวังประจำเครื่องมือเพื่อช่วยได้ทันกรณีติด การสำรวจและลาดตระเวนอาจใช้อากาศยานไร้คนขับร่วมกับทางเรือและจากบนหาด โดยเน้นพื้นที่บริเวณหน้าแหล่งวางไข่สำคัญ ในระยะยาวควรมีการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่มีมาตรการลดภัยคุกคามต่อเต่าทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง และหน้าหมู่เกาะพระทอง รวมกับการปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงเครื่องมือประมงบางประเภทให้มีความปลอดภัยกับเต่าทะเล

เต่ามะเฟือง
ขอขอบคุณบทความจาก : เต่ามะเฟือง